ขยะกำพร้าคืออะไร

เราคงคุ้นหู และรู้จักแต่เด็กกำพร้า พอพูดถึงขยะกำพร้าก็คงถึงขั้นคิ้วผูกโบว์ ขยะที่เรารู้จักกันดี คือ ขยะย่อยสลายได้ ขยะรีไซเคิล ส่วนขยะอีกจำนวนมากที่ไม่เข้าข่าย 2 ประเภทแรกคนส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยนึกถึงกันซึ่งนับวันจะยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ขยะที่ว่านั้นก็คือ ขยะกำพร้า 

ขยะกำพร้า คือ ขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิล ทิ้งลงดินก็เป็นพิษ ทิ้งในน้ำก็เป็นภัย หรือคิดง่าย ๆ คือ เป็นขยะที่รถซาเล้งไม่รับซื้อเพราะไม่สามารถนำไปขายต่อได้นั่นเอง ขยะประเภทนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากๆในช่วงระบาดโควิด-19 เพราะคนออกนอกบ้านไม่ได้ต้องกินอาหารสั่งผ่านออนไลน์ซึ่งต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแทบทั้งสิ้น,ชุดตรวจ ATK เกิดขึ้นจำนวนมหึมา เป็นต้น จากรายงานข่าว PPTV เมื่อ 6 สิงหาคม 2563 พบว่าปริมาณขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ใน กทม. ช่วงเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29.58 จากปกติอยู่ที่ประมารร้อยละ 12 ของปริมาณขยะทั้งหมด โควิด-19 ทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นจาก 1,500 ตันต่อวันเป็น 6,300 ตันต่อวัน ซึ่งตัวอันตราย คือ ขยะกำพร้า ซึ่งหากกำจัดไม่ถูกวิธีจะต้องรอเวลาย่อยน้อย 400 ปีจึงจะย่อยสลายเอง อะไรบ้างที่เรียกว่าขยะกำพร้า ไปดูกัน

  1. กลุ่มภาชนะ และบรรจุภัณฑ์อาหาร ยา และอื่น ๆ  

เป็นขยะกำพร้ากลุ่มใหญ่ที่สุด และเติบโตทวีคูณทั้งจากโควิด-19 และการใช้ชีวิตที่รีบเร่งของคนปัจจุบัน เช่น แก้ว กล่อง ช้อนส้อมพลาสติก,ถุงอาหาร,ซองขนมกรุบกรอบ,ซองเครื่องปรุงรส-กันชื้นในอาหารสำเร็จรูป,แคปซูลกาแฟ,แผง-ซองยา,ฟอยล์ทุกชนิด,กล่องโฟม และรวมถึงโฟมกันกระแทกที่ใช้ในการขนส่ง

  1. กลุ่มอาหารแห้ง และยาหมดอายุ 
  1. หมวดอุปกรณ์เพื่อสุขภาพอนามัย และการแพทย์ พยาบาล เช่น ชุดตรวจ อาทิ ATK,ชุดตรวจครรภ์,ผ้าอนามัย,หน้ากากอนามัย,ถุงมือยาง,พลาสเตอร์ยา
  1. หมวดเสื้อผ้า พวกเสื้อผ้าใยสังเคราะห์,เสื้อใน,กางเกงใน,ซิลิโคน
  1. หมวดเครื่องเขียนงานฝีมือ เช่น ปากกา,ปากกาลบคำผิด,ดินน้ำมัน,โอเอซิส(ปักดอกไม้)
  1. กลุ่มอุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น แปรงสีฟัน,แปรงล้างห้องน้ำ,แปรงขัดโถส้วม,ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ
  1. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น หลอดไฟ,ตลับหมึก,เครื่องพิมพ์ 
  1. อื่นๆ เช่น ยางรถยนต์,ฟิล์มถ่ายรูป,บัตรพนักงาน,บัตร ATM,ฟิล์มเอ็กซ์เรย์,อุปกรณ์เครื่องเซ่นไหว้,อุปกรณ์กีฬา เช่น ลูกกอล์ฟ ลูกเทนนิส ลูกขนไก่ ลูกบอลชนิดต่าง ๆ เป็นต้น 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของขยะกำพร้าที่เราทุกคนมีส่วนสร้างให้เกิดขึ้น เราสามารถช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการขยะกำพร้าเหล่านี้ได้ ด้วยการพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ให้มากที่สุด หากจำเป็นต้องใช้ให้แยกขยะกำพร้าออกจากขยะที่ย่อยสลายได้ และขยะรีไซเคิล โดยเฉพาะขยะพิษต้องแยกออกไว้อย่างชัดเจน หาข้อมูลแหล่งรับซื้อขยะกำพร้า ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการขยะอุตสาหกรรมโดยรับขยะที่ติดไฟได้และตัดให้ขาดได้ไปทำเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน ส่วนขยะกำพร้าอื่น ๆ ขอให้คัดแยกไว้ให้ชัดเจนเพื่อที่หน่วยงานกำจัดขยะจะได้นำไปจัดการต่อได้ง่ายขึ้น