ข้อควรรู้ก่อนเป็นเจ้าของรถไฟฟ้า EV

ข้อควรรู้ก่อนเป็นเจ้าของรถไฟฟ้า EV 100%

ปี 2022 ถือเป็นปีที่กระแสรถไฟฟ้าในประเทศไทยมาแรงมาก ภายหลังจากค่ายรถยนต์ต่างออกมาประกาศว่าจะหยุดการผลิตรถใช้น้ำมันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ รวมถึงราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้รถไฟฟ้าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยวันนี้จะมาบอกถึงข้อควรรู้สำหรับใครที่กำลังสนใจจะซื้อรถไฟฟ้าเพื่อที่จะได้ศึกษาหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะถือว่ารถไฟฟ้าเป็นสิ่งใหม่ที่กำลังจะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

1.กระแสไฟที่บ้านเพียงพอหรือไม่ – ก่อนที่จะซื้อรถไฟฟ้าจะต้องทำการตรวจสอบกระแสไฟฟ้าที่บ้านก่อนว่ามีเพียงพอหรือไม่ เพราะโดยมาตรฐานที่การไฟฟ้ากำหนดมาสำหรับคนที่จะซื้อรถไฟฟ้าหากต้องการติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าไว้ที่บ้านจะต้องมีขนาดมิเตอร์อย่างน้อย 30(100)A สำหรับ Single-Phase และ 15(45)A สำหรับไฟ 3 Phase

2.ระยะทางไกลสุดที่ทำได้ต่อการชาร์จเพียงหนึ่งครั้ง – หากคุณเป็นคนที่ต้องเดินทางไกล เน้นการขับออกต่างจังหวัดหรือระยะทางไกล ๆ จะต้องพิจารณารถที่สามารถชาร์จไฟเพียงครั้งเดียวทำระยะทางได้มากกว่า 300 กิโลเมตรขึ้นไป แต่ถ้าเน้นขับขี่ในเมืองเพื่อไปทำงานด้วยระยะทางใกล้ ๆ ไม่เกิน 20-30 กิโลเมตร อาจเลือกรถที่สามารถชาร์จไฟเพียงครั้งเดียวและทำระยะทางได้ 100-120 กิโลเมตรเป็นอย่างน้อย เพราะหากนำรถที่วิ่งระยะทางใกล้ออกต่างจังหวัดอาจประสบปัญหาในเรื่องของสถานีชาร์จก็เป็นได้ เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังมีปริมาณสถานีชาร์จจำกัดอยู่และรถที่วิ่งได้ไกลราคาก็จะค่อนข้างสูงกว่ามาก

3.ระยะเวลาในการชาร์จ – หลังจากที่ตรวจสอบในเรื่องของระยะทางที่รถไฟฟ้าทำได้ อย่าลืมที่จะตรวจสอบในเรื่องของระยะเวลาในการชาร์จด้วย เพราะระยะเวลาในการชาร์จรถไฟฟ้ามีผลต่อการวางแผนในการเดินทางหรือการใช้ชีวิตประจำวัน แม้รถไฟฟ้าจะมี 2 โหมดให้ใช้งาน นั่นคือโหมดชาร์จเร็ว กับโหมดชาร์จปกติ ซึ่งโหมดชาร์จเร็วจะเป็นในส่วนของสถานีชาร์จใช้กระแสไฟฟ้าแบบ DC เวลาสูงสุดไม่เกิน 60 นาที ในขณะที่โหมดชาร์จปกติจะเป็นการชาร์จในส่วนของไฟบ้านที่ใช้กระแสไฟฟ้าแบบ AC ซึ่งกินระยะมากถึง 6-8 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดความจุของแบตเตอรี่, กิโลวัตต์-ชั่วโมงและปริมาณกระแสไฟของสถานที่ชาร์จด้วย

4.หัวชาร์จในแบบต่าง ๆ – รถไฟฟ้าแต่ละยี่ห้อจะมีหัวชาร์จที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ที่สนใจจะซื้อต้องตรวจสอบให้ดีว่าหัวชาร์จของตนเองเป็นแบบใด เพราะมีผลต่อสถานีชาร์จหรือการชาร์จไฟรถนอกสถานที่ หากเป็นหัวชาร์จแบบเดี่ยว ๆ อาจมีปัญหาได้ ควรเป็นหัวชาร์จแบบสลับหัวได้ หรือมีที่แปลงหัว ซึ่งจะทำให้ได้รับความสะดวกมากกว่า

5.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถ – แม้รถไฟฟ้าจะมีการพิสูจน์แล้วว่าประหยัดกว่ารถใช้น้ำมัน แต่อย่าลืมในส่วนของค่าบำรุงดูแลรักษา โดยเฉพาะแบตเตอรี่ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาและให้การรับประกันนานมากกว่า 5 ปี แต่ถ้าได้เปลี่ยนแบตฯรถไฟฟ้าทีก็อาจต้องทำใจและยอมซื้อรถใหม่ดูจะง่ายกว่า ดังนั้น ควรพิจารณาในเรื่องของค่าใช้จ่ายในส่วนของการบำรุงรักษาด้วย

สำหรับใครที่กำลังมองหารถไฟฟ้าและอยู่ในช่วงของการตัดสินใจ ลองนำ 5 ข้อแนะนำนี้ไปพิจารณาดูว่าการที่จะซื้อรถไฟฟ้ามาใช้งานสักคัน จะคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับการใช้งานรถยนต์ที่คาดว่าจะค่อย ๆ หมดจากท้องถนนไม่ช้าก็เร็ว