หนัง (เกี่ยวกับ) เด็กที่ผู้ใหญ่ควรได้ดู

หนัง (เกี่ยวกับ) เด็กที่ผู้ใหญ่ควรได้ดู

การดูหนังหรือภาพยนตร์เป็นหนึ่งในงานอดิเรกยอดนิยมของคนทั่วโลก เพราะนอกจากจะเป็นการผ่อนคลายได้รับความบันเทิงและความสนุกที่ได้จากเนื้อเรื่องของหนังแล้ว เรายังสามารถเรียนรู้เนื้อหาสาระ มุมมอง รวมถึงเรื่องราวประเด็นต่าง ๆ ที่ผู้สร้างพยายามสื่อออกมาด้วย

มีหนังจำนวนมากทีเดียวที่นำเสนอเรื่องราวของ “เด็ก” ที่ดูเหมือนผู้สร้างไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อให้เด็กดู แต่ให้ผู้ใหญ่ดู อาจจะเพื่อความเข้าใจในความเป็นเด็ก วิธีคิดของเด็ก และปัญหาของเด็ก

ภาพยนตร์เกี่ยวกับเด็ก 3 เรื่องที่อยากชวนให้ผู้ใหญ่ดู

  1. Life is Beautiful – เด็ก…คือผ้าขาวไร้รอยเปื้อน

หนังอิตาเลียน ออกฉายในปี 1997 โดยผู้กำกับ โรแบร์โต เบนิญี่ ซึ่งแสดงนำเองอีกด้วย ว่าด้วยเรื่องราวครอบครัวชาวยิวที่อาศัยในประเทศอิตาลี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกกองทัพนาซีจับตัวไปอยู่ในค่ายกักกัน โดยพ่อที่ชื่อ กุยโด อยู่กับ โจชัว ลูกชายวัย 5 ขวบ ส่วนแม่ถูกแยกไปอยู่ในแดนผู้หญิง

กุยโดไม่ต้องการให้ลูกวัย 5 ขวบ สูญเสียความเป็นเด็ก ความสดใส จินตนาการ เพราะภัยสงครามและความโหดร้ายในค่ายกักกันเชลย จึง “โกหก” ลูกว่าเราเข้ามาเล่นเกมกัน วิธีเล่นเกมนี้ให้ชนะก็คือต้องเอาชีวิตให้รอด เด็กชายโจชัวจึงยึดถือสิ่งนี้เป็นคติประจำชีวิต โดยไม่ได้เฉลียวคิดว่าจริง ๆ แล้วมันคือสงครามที่โหดร้าย

เด็ก…คือผ้าขาวไร้รอยเปื้อน อยู่ที่ผู้ใหญ่และสังคมจะแต่งแต้มสีสันลงไป หากเติมสีของสงครามชีวิตเด็กน้อยคงมืดมัว ไร้ความฝัน ผ้าขาวขาดวิ่นไม่มีชิ้นดีในที่สุด แต่หากแต้มสีของเกมและรางวัล (แม้จะเป็นการโกหกก็ตาม) อย่างน้อยผ้าขาวผืนนี้ยังไม่เสียหาย รอเวลาแห่งความสดใสอีกครั้ง

  1. กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ – ครอบครัวสำคัญที่สุด 

ภาพยนตร์ไทยระดับเยี่ยมยอด ออกฉายในปี 2538 ที่แม้จะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่ขึ้นหิ้งเป็นงานชิ้นเอก ได้รับการยกย่องว่านี่คือหนังที่ดีที่สุดของผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล และเป็นหนึ่งในหนังไทยที่ดีที่สุดตลอดกาล

เนื้อเรื่องกล่าวถึงครอบครัวชนชั้นกลางของ ดำรง กับ อาภา ที่ต้องเลิกราแยกกันอยู่ ลูก 3 คน โอ๋ พี่สาว อ้นและอั้ม น้องชาย อยู่กับแม่ หากแต่เด็ก ๆ ผูกพันกับพ่อมากกว่าแม่ผู้ซึ่งบ้างานจนไม่ค่อยมีเวลาให้ เรื่องราวเริ่มซับซ้อนเมื่อ โอ๋ พาน้อง 2 คน หนีออกจากบ้านเพื่อไปหาพ่อที่เชียงใหม่ ระหว่างทางจึงได้พบกับ นกแล เด็กจรจัดบนรถไฟและได้เข้าไปพัวพันกับแก๊งค้ายาเสพติดจนโอ๋ถูกหัวหน้าแก๊งจับจะเอาไปขาย ส่วนดำรงกับอาภาเมื่อรู้ว่าลูกหายตัวไปจึงออกตามหาลูก จนเหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้ทั้งคู่เรียนรู้ได้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับลูกของตัวเองคืออะไร

นอกจากหนังจะบอกเราว่าสำหรับเด็กครอบครัวสำคัญที่สุด ยังสื่อให้เห็นถึงปัญหาของสังคมไทยที่ซับซ้อนเกินกว่าใครคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดจะแก้ไขได้เพียงลำพัง เพราะแม้ในที่สุดครอบครัวดำรงกับอาภาจะกลับมาอยู่ด้วยกัน ดูจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่เด็กจรจัดนกแลและพวกหนีออกจากบ้านเด็กกำพร้า กลับไปผจญโลกในวิถีเดิม นั่นแสดงให้เห็นว่าปัญหาสังคมยังคงอยู่และแก้ไขไม่ได้ง่าย ๆ

  1. Children of Heaven – เด็ก…ไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่ตัวเล็ก

ภาพยนตร์สัญชาติอิหร่าน ออกฉายในปี 1997 โดยผู้กำกับ มาจิด จาจิดี เล่าถึงเรื่องราวของ 2 พี่น้อง เด็กชายอาลี (พี่ชาย) และเด็กหญิงซาห์รา (น้องสาว) กับรองเท้า 1 คู่ ที่สองพี่น้องต้องสลับกันใส่ไปโรงเรียน เพราะอาลีทำรองเท้าของซาห์ราที่มีอยู่คู่เดียวหายไป เหลือแต่รองเท้าผ้าใบสีขาวเก่าซอมซ่อของอาลี

ครอบครัวของอาลีกับซาห์รามีฐานะยากจน การจะหาซื้อรองเท้าคู่ใหม่จึงเป็นสิ่งที่เกินเอื้อม อาลีจึงทำทุกวิถีทาง (ที่สุจริต) เพื่อหารองเท้ามาให้น้องสาวใส่ โดยในระหว่างนั้นทั้งคู่จำเป็นต้องใช้รองเท้าคู่เดียวกัน ซาห์ราใส่ไปเรียนตอนเช้าเมื่อเลิกเรียนก็วิ่งกลับมาสลับให้อาลีใส่รองเท้าคู่เดียวกันนั้นไปโรงเรียนในตอนบ่าย

และแล้ววันหนึ่งมีการแข่งขันวิ่งมาราธอน โดยรางวัลที่ 3 คือ รองเท้าผ้าใบ อาลีจึงไม่ลังเลที่จะลงแข่ง หากเขาได้รองเท้าผ้าใบคู่นี้ ปัญหาทุกอย่างที่เขาและน้องสาวกำลังเผชิญจะถูกแก้ไข และที่สำคัญที่สุดก็คือรอยยิ้มของซาห์ราถ้าเธอได้เห็นของขวัญที่เขามอบให้ และด้วยความมุ่งมั่นสุดแรงเกิดนี้เองทำให้อาลีเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 ทุกคนดีใจโห่ร้องฉลองชัยชนะ …แต่ อาลี ร้องไห้

เด็ก…ไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่ตัวเล็ก ความคิดอ่านของเด็กอาจไม่ตรงตามความเข้าใจของผู้ใหญ่ จงเข้าใจเด็กแบบที่เด็กเป็น ไม่ใช่แบบที่เราอยากให้เป็น

หนังหรือภาพยนตร์เป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งซึ่งทำหน้าที่สื่อความหมายตามแต่ศิลปินผู้สร้างต้องการนำเสนอ หนังจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม และหากแหลมคมเข้มข้นมากพอหนังจะสามารถเปลี่ยนทัศนคติคนในสังคมได้ ซึ่งเท่ากับว่าหนังเปลี่ยนสังคมได้ด้วย