8 อาการปวดหัวที่เรียกว่า “ไมเกรน”

อาการปวดหัวที่เรียกว่าไมเกรน

โรคไมเกรน (Migraine) เป็นอาการปวดหัวเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน มีสาเหตุจากการบีบและคลายตัวของหลอดเลือดแดงในสมองมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว มักเป็น ๆ หาย ๆ และอาจมีต่อเนื่อง จัดเป็นการปวดในระดับปฐมภูมิ พบมากในเพศหญิง และมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเครียดสะสม และอาจมีปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การเผชิญแสงแดดจัดจ้าเป็นเวลานาน หรือการอยู่ในที่ที่อุณหภูมิแตกต่างกันสลับไปมา เช่น ตากแดดจัดแล้วเข้าห้องแอร์บ่อยครั้ง, การอยู่ในที่ที่มีเสียงดังอึกทึก เป็นต้น อาการปวดอย่างไรจึงจะเรียกว่าไมเกรน ลองสังเกตอาการดังต่อไปนี้

ปวดหัวไมเกรน เป็นอย่างไร ?

1. มีอาการปวดหัวครึ่งซีก แล้วลามมาบริเวณท้ายทอย บางคนเริ่มปวดจากกระบอกตาซ้ายขวา แล้วค่อยร้าวลงมาที่ขมับอาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างพร้อมกัน ซึ่งจะปวดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถในการทนต่อความเจ็บปวดของร่างกายแต่ละคน

2. มีลักษณะปวดหน่วงตุบๆ เป็นช่วงๆ อาจจะเริ่มจากปวดห่าง ๆ ก่อนแล้วค่อยปวดมาก และถี่มากขึ้นหายังไม่ได้รับประทานยา

3. มีระดับความปวดปานกลาง ถึงมาก และมีโอกาสปวดต่อเนื่องนานตั้งแต่ 4-72 ชม.

4. กินยาแก้ปวดพาราเซตามอลไม่หาย ต้องมีการใช้ยาเฉพาะอาการทั้งการป้องกัน และรักษา ร่วมกับการกายภาพ

5. อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

6. ทนเสียงดังไม่ได้ ขณะปวดหากได้ยินเสียงดังจะยิ่งทวีอาการปวด

7. ปวดร่วมกับการมีรอบเดือน และอาจผสมปนเปกับการเป็นไข้ทับฤดู จึงต้องแยกแยะอาการปวดให้ดีว่ามาจากสาเหตุใดกันแน่

8. มีอาการนำแสดงก่อนที่จะมีอาการปวดหัว เรียกว่า ออร่า ส่วนใหญ่จะมีอาการนำทางสายตา เช่น แพ้แสง พร่ามัว เห็นแสงเป็นเส้น ๆ ระยิบระยับ แสงจ้าสะท้อน หรือเห็นภาพบิดเบี้ยว อาการนำด้านความรู้สึก จะมีอาการชาตามร่างกาย มือ แขน รอบปาก อาการนำที่ก้านสมอง มีอาการเบลอ เวียนหัว ทรงตัวยาก เดินเซ บางรายอาจรุนแรงถึงหมดสติ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดก่อนอาการปวดหัวราว 10-20 นาที

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ และสภาวะเศรษฐกิจ สังคม ที่บีบคั้นต่อการเอาตัวรอดทำให้โรคไมเกรนถูกตรวจพบในผู้ป่วยวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะยังไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงมากมายแต่มีผลกระทบอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวัน จึงควรต้องดูแลร่างกายให้ห่างไกลความเครียด เช่น การนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกาย นวดกดจุด นั่งสมาธิ หรือแม้แต่หาโอกาสท่องเที่ยวเพื่อการผ่อนคลายบ้าง และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นดังกล่าวข้างต้น ก็จะช่วยรักษาระยะห่างจากโรคได้มาก