“บริหารเวลา” ให้เป็น แล้วจะยิ่งเห็น “คุณค่า” ของเวลา

“บริหารเวลา” ให้เป็น แล้วจะยิ่งเห็น “คุณค่า” ของเวลา

คนส่วนใหญ่มักเพลิดเพลินกับการใช้เวลาไปเรื่อยเปื่อย ต่อเมื่อรู้ว่ามีอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำ หรือทำไปแล้วอยากแก้ไข หรือมีการสูญเสียอะไรบางอย่างเมื่อเวลาผ่านไป จึงจะถึงคุณค่าของเวลา เช่นเดียวกับวลีที่ว่า “รู้อะไรไม่เท่ารู้อย่างนี้..” ซึ่งเป็นการดีที่จะตั้งคำถามให้กับตัวเองว่า เรา “บริหารเวลา” ดีแล้วหรือยัง?

“บริหารเวลา” ให้เป็น แล้วจะยิ่งเห็น “คุณค่า” ของเวลา

ซึ่งคอร์สหรือหลักสูตรการ “บริหารเวลา” นั้นมีมากมาย จากผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำแนะนำและสอนเชิงปฏิบัติการ workshop บนพื้นฐานทฤษฎีในศาสตร์ต่าง ๆ รวมถึงการใช้ประสบการณ์เชิงบุคคล ในการทำให้เรามั่นใจที่จะทำตามและหวังว่าจะได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกัน โดยหลักการก็ไม่ต่างกัน คือ

1. เตือนตัวเองว่า วันหนึ่ง มี 24 ชั่วโมง 1 สัปดาห์มี 168 ชั่วโมงเท่ากันทุกคน ขึ้นกับการจัดการตารางชีวิตให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ไม่ควรละทิ้งการรักษาสมดุลในชีวิต สำหรับการทำกิจกรรมด้านอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น การให้เวลากับครอบครัว , การออกกำลังกาย , การนอนหลับให้สนิทต่อเนื่อง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตทีดีจากสุขภาพภายในและความสัมพันธ์ในครอบครัว ไม่ใช่การสำเร็จเพียงตัวเลขทางธุรกิจเท่านั้น

2. การกำหนดเส้นตายหรือ deadline ในการทำงาน ไม่ว่าชิ้นเล็กหรือใหญ่ ต้องมีขีดจำกัดที่จะทุ่มเทเวลาให้ตามสมควร เพื่อลดความคิดผัดวันประกันพรุ่ง หรือเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ จนไม่ได้งานเป็นชิ้นเป็นอัน

3. แบ่งแยกสิ่งที่ต้องทำ เป็น เรื่องเร่งด่วน , เรื่องสำคัญ , เรื่องที่รอได้ หรือเรื่องที่ควรปล่อยผ่านไป เพื่อให้ลำดับและตอบตัวเองได้ว่าสิ่งไหนที่ควรทำก่อนหรือหลัง ทั้งนี้ขึ้นกับบทบาทหน้าที่การงานส่วนที่เรารับผิดชอบโดยตรง อาจใช้วิธีคิดจากระดับความเสียหายหากพลาดสิ่งนั้น ๆ ไป

4. บันทึกสิ่งที่คิดหรือวางแผนไว้ ลงสมุด Diary หรือ Planner หรือทำเป็นตาราง schedule “กำกับ” ช่วงเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยเตือนความจำ ลดปัญหาหลงลืมหรือพะวงในสิ่งที่สำคัญ

5. วางแผนการใช้เวลาสำหรับวันรุ่งขึ้นก่อนล่วงหน้าในช่วงเย็นหรือตอนเช้าวันถัดไป เพื่อให้ไม่เพลินทำในสิ่งที่ไม่จำเป็นที่มักแทรกเข้ามาต่อเนื่องระหว่างวัน โดยเฉพาะเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์พูดคุย โทรศัพท์ หรือ chat online กับผู้อื่น

6. ให้วางแผนหลายระดับ เช่น ระยะใน 1 วัน , 1 สัปดาห์ , ช่วง 1 เดือน , ไตรมาส รอบปี เพื่อให้เห็นแผนชีวิตในระยะสั้น , ระยะกลางและระยะยาวบรรลุเป้าหมายและเกิดความมุ่งมั่นยิ่งขึ้นที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้บรรลุผล

“ค่า” ของเวลานั้นขึ้นกับการตีความของสิ่งที่เราเห็นว่าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขกำไรหรือขาดทุนจากงานธุรกิจ หรือเป็นระดับดีกรีความสุขจากได้แบ่งปันความรู้ความสามารถในการทำกิจกรรมดี ๆ เพื่อตัวเอง ครอบครัว หรือผู้อื่นที่ไม่เจาะจง ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์สุขในโลกใบกลม ๆ เดียวกัน

การ “บริหารเวลา” จะทำได้ดี ก็ต่อเมื่อเราเห็นค่าของเวลา (ตามมุมมองของเรา) และฝึกฝนมุ่งมั่นที่จะให้ได้ผลลัพธ์ (ไม่ว่าตัวเงิน หรือความสุข) จากการใช้เวลาให้งอกงามเติบโตยิ่งขึ้นไป