เคล็ดไม่ลับ 5 ข้อ ออมเงินอย่างไรให้เหลือใช้ยามเกษียณ

เคล็ดไม่ลับ 5 ข้อ ออมเงินอย่างไรให้เหลือใช้ยามเกษียณ

การออมเงินเป็นสิ่งที่เราได้ยินกันมาตลอดตั้งแต่ยังเด็ก เมื่ออายุยังน้อยอาจยังมองไม่เห็นความสำคัญของการออมเงินเพราะยังไม่รู้จักวิธีการหาเงิน แต่เมื่อถึงวัยทำงานทุกคนจะเข้าใจกับคำว่าออมเงินได้ดีขึ้นเพราะกว่าจะหาเงินมาได้แต่ละบาทไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ยิ่งในแต่ละวันยังมีเรื่องที่ต้องให้ใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหารหรือหากประสบอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงก็ยังต้องมีการใช้จ่ายเงินเพื่อรักษาพยาบาลอีก แล้วหากถึงวัยเกษียณแล้วยังไม่มีเงินออมสำรองล่ะ จะทำอย่างไร

ดังนั้นเพื่ออนาคตที่สดใสในวัยเกษียณเราจึงควรรู้จักวิธีการออมเงินที่ถูกต้อง วันนี้เราจะมาแนะนำเคล็ดลับการออมเงิน 5 ข้อ เพื่อให้มีเงินเหลือใช้ยามเกษียณกัน

1.เงินเดือนหาร 45 ความหมายคือได้เงินเดือนเท่าไหร่ให้นำ 45 มาหารออกจะทำให้เรารู้ว่าเราสามารถใช้เงินในแต่ละวันได้จำนวนเท่าไหร่ต่อเดือน ส่วนที่เกินจาก 30 วัน คือ 15 วันที่เหลือถือเป็นเงินที่เราออมในแต่ละเดือน เช่น เงินเดือน 10,000 บาท / 45 เท่ากับเราใช้ได้ไม่เกินวันละ 222 บาท แทนที่จะเป็น 333 บาท (10,000 / 30) นั่นหมายความว่าเราจะมีเงินออม 1,665 บาท/เดือน (111 X 15)

2.ตั้งเป้าหมายในอนาคตให้ชัดเจน เช่น ตั้งใจจะเก็บเงินไว้ 30% ของเงินเดือนเพื่อการซื้อบ้านในอนาคต ดังนั้นหากเราได้เงินเดือนมาต้องหัก 30% ของเงินเดือนมาเก็บออมไว้ ซึ่งต้องทำเป็นกิจจะลักษณะโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้เราสามารถซื้อบ้านได้ตามที่เราตั้งเป้าหมายไว้

3.สร้างวินัยการใช้เงิน หมายถึงการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายต่อเดือนไว้ล่วงหน้าและปฏิบัติตามเป็นประจำ โดยทั่วไปจะแบ่งเงินเดือนออกเป็น 3 ส่วนคือ (1) 45% สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ (2) 30% สำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร และ (3) 20% เก็บไว้เป็นเงินออม วิธีนี้จะทำให้เรามีเงินออมในอัตราที่เท่ากันในแต่ละเดือน ซึ่งเดือนไหนเราใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นหรือชีวิตประจำวันไม่ถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ก็จะทำให้เรามีเงินออมมากขึ้นไปอีก

4.แยกบัญชีเงินเก็บให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้นำเงินที่ตั้งใจออมมาใช้จ่าย วิธีง่าย ๆ คือการเปิดบัญชีแบบเงินฝากประจำที่ห้ามถอนมาใช้หากยังไม่ถึงกำหนด จะทำให้เมื่อครบกำหนดถอนเงินจะเห็นเงินออมก้อนใหญ่ที่เราสะสมไว้

5.ทำเงินให้งอกเงย ด้วยการลงทุนในกองทุนหรือซื้อหุ้น ซึ่งดีกว่าการเก็บเงินในบัญชีออมทรัพย์ที่ได้ดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย จะลงทุนด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาล หุ้น หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว (LTF) ก็ได้ทั้งนั้น

สรุปคือเราไม่ควรมองข้ามเรื่องการเก็บเงินออมไว้ใช้ในยามจำเป็นหรือในวัยเกษียณ โดยเฉพาะหากเกิดช่วงเวลาที่ต้องใช้เงินในยามฉุกเฉินแล้วไม่ได้มีเงินสำรองไว้ ก็จะสร้างความยากลำบากต่อเรามาก ดังนั้นการมีเงินเก็บออมถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยเหลือเราเมื่อยามจำเป็นได้